ประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำของชาวปากน้ำประแสร์ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย มีการทอดผ้าป่าในเวลากลางวันและลอยกระทงในเวลากลางคืน การทอดผ้าป่ากลางน้ำของชาวประแสร์ เป็นไปตามวิถีชีวิตของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ติดกับแม่น้ำ อันได้แก่ แม่น้ำประแสร์ ประชาชนมีอาชีพประมง ชาวประแสร์นับถือศาสนาพุทธมาแต่บรรพบุรุษ เมื่อมีเงินทองก็คิดที่จะทำบุญ แต่ชาวประแสร์ในอดีตนั้นจะมีประเพณีอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าผู้ใดทำบุญบ้าน ทำบุญแต่งงาน หรือทำบุญอะไรก็ตามจะต้องทอดผ้าป่าด้วย.
ประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำสันนิษฐานว่าสืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี โดยประชาชนจะนำพุ่มผ้าป่าไปปักไว้กลางแม่น้ำประแสร์ โดยพุ่มผ้าป่าจะใช้กิ่งไม้จากต้นฝาดหรือต้นโปรง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามป่าชายเลนโดยทั่วไป ประดับตกแต่งพุ่มผ้าป่าให้สวยงาม จากนั้นไปนิมนต์พระสงฆ์มาชักผ้าป่าตามพิธีกรรมในทางพระพุทธศาสนา โดยนิมนต์พระสงฆ์ลงเรือไปยังพุ่มผ้าป่ากลางลำน้ำประแสร์ ประชาชนที่ร่วมประกอบพิธีจะพายเรือหรือแจวเรือของตนเข้าร่วมพิธีกลางลำน้ำนั้น หลังจากประกอบพิธีกรรมทอดผ้าป่ากลางน้ำแล้ว ประชาชนจะร่วมกิจกรรมสนุกสนานรื่นเริง โดยการจัดการละเล่นอันได้แก่ การแข่งเรือพาย แข่งพายกะโล่ แข่งพายเรือข้ามลำไม้ไผ่ แข่งชกมวยทะเล
การทอดผ้าป่ากลางน้ำได้วิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจะมีขบวนเรือประมงขนาดใหญ่จำนวนนับร้อยลำมาแห่พุ่มผ้าป่า ภายในเรือจะมีเครื่องดนตรีบรรเลงตลอดเวลา และตามหน้าบ้านของชาวบ้านปากน้ำประแสร์จะนำพุ่มผ้าป่ามาปักไว้หน้าบ้านของตนบ้านละ 1 พุ่มตามความศรัทธา ตกแต่งให้สวยงาม แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากวัดตะเคียนงามมาชักพุ่มผ้าป่า.